วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การปลูกคะน้า

การปลูกคะน้า

          ผักคะน้า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียและปลูกกันมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย คะน้าเป็นผักที่นิยมปลูกและบริโภคกันมา โดยปลูกเพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น อายุตั้งแต่หว่านหรือหยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน ผักคะน้าเป็นผักสวนครัวที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ปลูกได้ผลดี ที่สุดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน

การเพาะกล้า
         1. การเตรียมแปลงเพาะ แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม
         2. การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า ควรขุดไถพรวนดินอย่างดี ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ย่อยหน้าดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
         3. การเพาะ หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง กลบเมล็ดด้วยดินหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ
         4. การดูแลต้นกล้า ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน ควรดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป ผสมสารละลายสตาร์ทเตอร์โวลูชั่นในน้ำแล้วนำไปรด เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ ดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิดขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป


วิธีการปลูก
         การปลูกคะน้านิยมปลูก 2 แบบ คือ
         1. แบบหว่านกระจายทั่วแปลง เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำเป็นการค้า
         2. แบบแถวเดียว เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดเล็กหรือผักสวนครัว เตรียมดินโดยการใช้แรงงานคนให้น้ำโดยใช้บัวรดน้ำ
         ระยะปลูก ควรให้มีระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 20 X 20 เซนติเมตร
         การเตรียมแปลงปลูก มีวิธีการดังนี้
         1. ขุดดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร
         2. ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน
         3. นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วมาใส่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินเป็นการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
         4. พรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะการปลูกแบบหว่านลงในแปลง เพื่อไม่ให้เมล็ดตกลงไปในดิน เพราะจะไม่งอกหรืองอกยากมาก
         5. ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

         ในการปลูกคะน้านิยมหว่านเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรงมากกว่าย้ายกล้า โดยมีขั้นตอนดังนี้
         1. หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงโดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร
         2. ใช้ดินผสมหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วหว่านกลบเมล็ดให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร เพื่อเก็บรักษาความชื้นและป้องกันเมล็ดถูกน้ำกระแทกกระจาย
         3. คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ
         4. รดน้ำให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน
         5. หลังจากต้นคะน้างอกแล้วประมาณ 20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ให้เริ่มถอนแยก โดยเลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออกแล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้
         6. เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน ให้ถอนแยกครั้งที่ 2 ให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตรต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออก แล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้
         7. ในการถอนแยกคะน้าแต่ละครั้งควรกำจัดวัชพืชไปด้วย

การให้น้ำ

         1. คะน้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรปลูกในแหล่งที่มีน้ำอย่างเพียงพอ
         2. การให้น้ำให้ใช้ฝักบัวฝอยรดให้ทั่วและให้ชุ่ม ในเวลาเช้าและเย็น


การใส่ปุ๋ย

         คะน้าต้องการปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง อาจใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11 ในอัตราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ หลังจากถอนแยกครั้งแรกและหลังจากถอนแยกครั้งที่ 2



การเก็บเกี่ยวผลผลิต

         อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ คะน้าที่มีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า วิธีการเก็บเกี่ยวคะน้าทำได้ดังนี้
         1. ใช้มีดคมๆ ตัดให้ชิดโคนต้น
         2. ตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง
         3. หลังตัดแล้วบางแห่งมัดด้วยเชือกกล้วยมัดละ 5 กิโลกรัม บางแห่งก็บรรจุเข่ง แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่ง
         การเก็บเกี่ยวคะน้าให้ได้คุณภาพดี รสชาติดี และสะอาด ควรปฏิบัติดังนี้
         1. เก็บในเวลาเช้าดีกว่าเวลาบ่าย
         2. ใช้มีดเล็กๆ ตัด อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ
         3. อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
         4. หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำผักเข้าที่ร่ม วางในที่โปร่งและอากาศเย็น
         5. ภาชนะที่บรรจุผักควรสะอาด

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มงคลชีวิต

คนพาลคือใคร?
 คนพาล คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิด ๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วอะไรควรอะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่า"เหล้า" เป็นของจัญไรทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการแต่คนพาลกลับเห็นว่า "เหล้า" เป็นของประเสริฐเป็นเครื่องกระชับมิตร  หรือบัณฑิตเห็นว่า "การเล่นไพ่" เป็นอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า "การเล่นไพ่"เป็นสิ่งดี  เป็นการฝึกสมองซ้อมวิชาคำนวณ ดังนี้เป็นต้น
 คนพาลเป็นคนเหมือนกับเรา คือมีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา  และอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเราก็ได้เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครู  อาจารย์  ฯลฯ อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมากแม้กระทั่งอาจบวชเป็นพระภิกษุ ฯลฯ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้  มีความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น
ลักษณะของคนพาล
         เนื่องจากคนพาลมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่ถูกต้องได้ คนพาลจึงมีลักษณะวิปริตผิดจากคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ
 ๑. ชอบคิดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดละโมบอยากได้ในทางทุจริต คิดพยาบาทปองร้าย คิดเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ
 ๒. ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่  พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยง  พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ
 ๓. ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย  ได้แก่  เกะกะเกเร ชอบล้างผลาญชีวิตคนและสัตว์ ลักทรัพย์ ฉุดคร่าอนาจาร ฯลฯ

โทษของความเป็นคนพาล
๑.มีความเห็นผิด ก่อทุกข์ให้ตนเอง
๒.เสียชื่อเสียง ถูกติฉิมนินทา
๓.ไม่มีคนนับถือ ถูกเกลียดชัง
๔.หมดสิริมงคลหมดสง่าราศี
๕.ความชั่วเภทภัยทั้งหลาย จะไหลเข้ามาหาตัว
๖.ทำลายประโยชน์ของตนเองทั่วโลกนี้และโลกหน้า
๗.ทำลายวงศ์ตระกูลของตนเอง
๘.เมื่อละโลกไปแล้วมีอบายภูมิเป็นที่ไป

วิธีสังเกตคนพาล
คนพาลมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ
    ๑.คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด
ชัก  คือ  ชักชวน เชิญชวน  ชี้ชวน หรือ เสนอแนะ
นำ คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เช่น ชักชวนหนีโรงเรียน ชักชวนไปปล้นจี้ ชักชวนหนีตามกันไป ชักนำไปเป็นอันธพาล ฯลฯ การชักนำนี้อาจทำด้วยความหวังดีก็ได้ แต่ว่ามันผิด เช่นได้เงินมาก็ชักชวนเพื่อนไปเลี้ยงเหล้าเที่ยวกลางคือ อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนพาล
 ผู้ที่ยังเยาว์วัยอ่อนความคิด อ่อนสติ มักถูกชักนำได้โดยง่าย ผู้ใหญ่ในบ้านจึงควรระมัดระวังการกระทำ และคำพูดทั้งของตนเองและผู้ที่มาติดต่อคบหา เพราะเด็กมักจะจำ และทำตามอย่าง
    ๒.คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เกะกะเกเรหน้าที่การงานของตนไม่พยายามจัดการให้เรียบร้อย แต่ชอบไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เช่น จับผิดผู้ร่วมงาน เขียนบัตรสนเท่ห์ กลั่นแกล้ง  รังแก ทำความรบกวนให้เดือดร้อน ฯลฯ
    ๓.คนพาลชอบแต่สิ่งผิด ๆ ชอบถือเอาสิ่งที่ชั่วว่าเป็นดี เช่น ชอบค้าของเถื่อน ชอบหนีโรงเรียน  ชอบเถียงพ่อแม่ ฯลฯ เห็นคนทำถูกเป็นคนเซ่อเห็นคนกลัวผิดเป็นคนเซอะ  ฯลฯ
    ๔.คนพาลแม้พูดดีๆ ก็โกรธ เช่น เตือนให้ดูหนังสือตอนใกล้สอบ ก็โกรธ เตือนให้ตื่นเช้าก็โกรธ แค่มองหน้าบางครั้งก็ยังโกรธ ฯลฯ
    ๕.คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย เช่น  ไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะบนพื้นถนน ไปทำงานสาย ฯลฯ

พฤติการณ์ที่เรียกว่า"คบ"  คืออย่างไร ?
คบ หมายถึง พฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
ร่วม เช่น ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมก่อการ ร่วมพวก
รับ เช่น รับเป็นเพื่อน รับเป็นภรรยาหรือสามี รับไว้ทำงาน
ให้ เช่น ให้ความไว้วางใจ ให้คำชมเชย  ให้ยศให้ตำแหน่ง ให้หยิบยืมสิ่งของ
 
การไม่คบคนพาล คือ การไม่ยอมมีพฤติกรรมสัมพันธ์ใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นกับคนพาล ถ้าเรายังคบคนพาลอยู่ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตามรีบถอนตัวเสียโดยด่วน  อย่าประมาทรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิฉะนั้นจะพลาดติดเชื้อพาลโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพาลตามไปด้วย
โบราณท่านให้คติเตือนไว้ว่า
"ห่างสนุขให้ห่างศอก
ห่างวอกให้ห่างวา
ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์"

โทษของการคบคนพาล
๑.ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด
๒.ย่อมเกิดความหายนะการงานล้มเหลว
๓.ย่อมถูกมองในแง่ร้าย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป
๔.ย่อมอึดอัดใจ เพราะคนพาลแม้เราพูดดี ๆด้วยก็โกรธ
๕.หมู่คณะย่อมแตกความสามัคคี เพราะการยุยงและไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย
๖.ภัยอันตรายต่างๆ ย่อมไหลเข้ามาหาตัว
๗.เมื่อละโลกแล้ว ย่อมมีอบายภูมิเป็นที่ไป

ประเภทของคนพาล
คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.พาลภายนอก  คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือ พาลภายใน
๒.พาลภายใน คือ ตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว  เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเกเร ไม่ยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง แกล้งไปทำงานสายบ้าง  คนอื่นเตือนดี ๆ ก็โกรธบ้าง  หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง  พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละ คือตัวพาล มีเชื้อสายพาลอยู่ใน ต้องรีบแก้ไข

หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
๑.หวั่นห้ามใจตนเองจากความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ก่อนที่มันจะลุกลามต่อไป เช่น การนอนตื่นสาย การละเลยต่อการสวดมนต์ทำสมาธิก่อนนอน
๒.อย่าตามนึกถึงความชั่ว ความผิดพลาดในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่น ผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ตั้งใจทำความดีใหม่ให้เต็มที่
๓.ตั้งใจให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
๔.หลีกเลี่ยงการอ่าน การฟัง การพูด เรื่องเกี่ยวกับคนพาล จะได้ไม่สะสมความคิดเกี่ยวกับพาลไว้ในใจ พยายามสะสมแต่ความคิดที่ดีงามโดยการอ่าน การฟัง การพูด แต่สิ่งที่ดีงาม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ สนทนาธรรม  พูดถึงคนที่ทำคุณความดี ฯลฯ
๕.ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนพาลอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เช่นทำงานในที่เดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกันในกรณีเช่นนี้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า  เรากำลังอยู่ใกล้สิ่งที่เป็นอันตราย เหมือนอยู่ใกล้คนเป็นโรคติดต่อ ต้องระวังตัว คือ ระวังความเป็นพาลของเขาจะมาติดเราเข้า ต้องหมั่นทำทาน รักษาศีลทำสมาธิ เพื่อให้ในผ่องใสอยู่เสมอ
 เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การปราบพาลภายในตัวเราเอง

อานิสงส์การไม่คบคนพาล
๑.ทำให้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
๒.ทำให้สามารถรักษาความดีเดิมไว้ได้
๓.ทำให้สามารถสร้างความดีใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก
๔.ทำให้ไม่ถูกคนพาลทำร้าย
๕.ทำให้ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกใส่ความ
๖.ทำให้ไม่ถูกมองในแง่ร้าย ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป
๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว
๘.ทำให้มีความสุขทั้งตนเอง  ครอบครัวและประเทศชาติ
๙.เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อพาลระบาดไป  เพราะขาดคนสนับสนุน
"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง เมื่อใดบาปให้ผลคนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"

มรรค 8 ( อัฏฐังคิกมรรค )

มรรค 8 ( อัฏฐังคิกมรรค )     (มรรค = อริยมรรค = มัชฌิมาปฏิปทา = มรรคแปด = ทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ = ทางสายกลาง)
   แนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตหรือกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์
   เรียกว่า อริยมรรค แปลว่าทางอันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลักไม่อ่อนแอ จนถึงกับ
   ตกอยู่ใต้อำนาจ ความอยากแห่งใจ แต่ก็ไม่แข็งตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือด
   แห้งจากความสุขทางกาย เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางดำเนินสาย
   กลาง ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะเช่นสายดนตรีที่เทียบเสียงได้ที่แล้ว

   คำว่ามรรค แปลว่าทาง ในที่นี้หมายถึงทางเดินของใจ เป็นการเดินจากความทุกข์
  ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วย
   อำนาจของอวิชชา ....มรรคมีองค์แปด คือต้องพร้อมเป็นอันเดียวกันทั้งแปดอย่างดุจเชือก
   ฟั่นแปดเกลียว องค์แปดคือ :-
1. สัมมาทิฏฐิ ิคือความเข้าใจถูกต้อง
2. สัมมาสังกัปปะ คือความใฝ่ใจถูกต้อง
3. สัมมาวาจา คือการพูดจาถูกต้อง
4. สัมมากัมมันตะ คือการกระทำถูกต้อง
5. สัมมาอาชีวะ คือการดำรงชีพถูกต้อง
6. สัมมาวายามะ คือความพากเพียรถูกต้อง
7. สัมมาสติ คือการระลึกประจำใจถูกต้อง
8. สัมมาสมาธิ คือการตั้งใจมั่นถูกต้อง

อริยสัจ 4

 มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4
1. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์
2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
3. นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
4. มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้

การสร้าง การใช้ หรือการเปลี่ยนแม่แบบใน Publisher

การสร้าง การใช้ หรือการเปลี่ยนแม่แบบใน Publisher
การสร้าง การใช้ หรือการเปลี่ยนแม่แบบใน Publisher
นำไปใช้กับ: Microsoft Office Publisher 2007
  ถ้าคุณดำเนินธุรกิจทั่วไป คุณอาจจะสร้างสิ่งพิมพ์บางชนิด  เช่น จดหมายข่าว ใบปลิว ไปรษณียบัตร และบัตรของขวัญ  เป็นประจำ แม้ว่าฉบับใหม่แต่ละฉบับจะไม่ซ้ำกัน แต่ก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่สอดคล้องเหมือนกันอยู่ เช่นชื่อบริษัทและที่อยู่บริษัทของคุณ
ตัวอย่างเช่น ในจดหมายข่าวรายเดือน เค้าโครงส่วนมากยังคงเหมือนเดิม แต่เนื้อหาของจดหมายข่าวจะเปลี่ยนไปในแต่ละฉบับ
คุณต้องการทำสิ่งใด
การศึกษาเกี่ยวกับแม่แบบ
คุณสามารถสร้างแม่แบบจากสิ่งพิมพ์ได้ด้วยการบันทึกสิ่งพิมพ์นั้นเป็นแฟ้มแม่แบบ Publisher เมื่อคุณเริ่มต้นสิ่งพิมพ์ใหม่ด้วยการเลือกแม่แบบ สำเนาของแฟ้มแม่แบบนั้นจะเปิดขึ้น เพื่อแม่แบบต้นฉบับจะได้ไม่เปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจ ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงที่แม่แบบ คุณสามารถเปิดสำเนาของแฟ้มแม่แบบ แล้วเปลี่ยนแปลงตามที่คุณต้องการ จากนั้นให้บันทึกเป็นแม่แบบอีกครั้ง
คุณสามารถประหยัดเวลาได้ด้วยการออกแบบสิ่งพิมพ์ต้นแบบซึ่งสะท้อนตราสินค้าและเอกลักษณ์ของบริษัท และจากนั้น บันทึกการออกแบบเป็นแม่แบบ หลังจากนั้น ทุกครั้งที่คุณต้องการสร้างสิ่งพิมพ์ฉบับใหม่ คุณสามารถใช้แม่แบบดังกล่าวและเพิ่มเพียงข้อมูลที่ไม่ซ้ำกันไปยังฉบับนั้นได้ การใช้แม่แบบสำหรับสิ่งพิมพ์ที่คุณผลิตเป็นประจำไม่เพียงแต่ประหยัดเวลาเท่านั้น แต่คุณยังสามารถทำให้แน่ใจในคุณภาพและความสอดคล้องได้อีกด้วย
มีวิธีสร้างสิ่งพิมพ์ใน Publisher หลายวิธี Publisher มีการออกแบบที่มีคุณลักษณะแบบไดนามิกซึ่งทำให้ง่ายในการเปลี่ยนการออกแบบ เค้าโครง สี และองค์ประกอบอื่น คุณสามารถทำได้ดังนี้
  • ใช้แม่แบบสิ่งพิมพ์แบบหนึ่งสร้างชนิดของสิ่งพิมพ์ที่คุณต้องการ เช่น ปฏิทิน จดหมายข่าว หรือไปรษณียบัตร
  • ออกแบบสิ่งพิมพ์ กำหนดสิ่งพิมพ์เองตามความต้องการของคุณ แล้วบันทึกสิ่งพิมพ์เป็นแม่แบบ
ค้นหาการเชื่อมโยงไปยังข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีออกแบบสิ่งพิมพ์เพื่อบันทึกเป็นแม่แบบและวิธีสร้างแม่แบบที่มีตราสินค้าสำหรับธุรกิจของคุณตั้งแต่ต้นในส่วน ดูเพิ่มเติม
การบันทึกสิ่งพิมพ์เป็นแม่แบบ
คุณสามารถสร้างแม่แบบจากสิ่งพิมพ์ด้วยการบันทึกสิ่งพิมพ์นั้นเป็นแฟ้มแม่แบบ Publisher นอกจากนี้ คุณยังสามารถดาวน์โหลดแม่แบบจาก Microsoft Office Online แล้วเปลี่ยนแม่แบบตามที่คุณต้องการ จากนั้นบันทึกแฟ้มเป็นแม่แบบที่คุณสามารถใช้ได้อีก
  1. สร้างหรือเปิดสิ่งพิมพ์ที่คุณต้องการใช้เป็นแม่แบบ
  2. บนเมนู แฟ้ม ให้คลิก บันทึกเป็น
  3. ในกล่อง บันทึกเป็นชนิด ให้คลิก แม่แบบ Publisher
 หมายเหตุ   โฟลเดอร์ปลายทางเปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งที่ตั้งแม่แบบเริ่มต้น (C:\Documents and Settings\ชื่อผู้ใช้\Application Data\Microsoft\Templates ถ้าคุณยังไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งใน Microsoft Office Word) ถ้าคุณบันทึกแม่แบบของคุณไปยังตำแหน่งที่ตั้งอื่น Publisher อาจไม่สามารถพบแม่แบบ
  1. ในกล่อง ชื่อแฟ้ม ให้พิมพ์ชื่อของแม่แบบ
  2. คลิก บันทึก
 หมายเหตุ   เมื่อต้องการดูแม่แบบที่คุณเพิ่งสร้าง ให้จบการทำงานและเริ่ม Publisher อีกครั้ง จากนั้นให้คลิก แม่แบบของฉัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ให้ดูส่วน การค้นหาแม่แบบที่คุณสร้าง ด้านล่าง
การใช้แม่แบบสร้างสิ่งพิมพ์
คุณสามารถใช้แม่แบบจาก Publisher หรือ Office Online เพื่อสร้างสิ่งพิมพ์ที่สวยงามได้
การใช้แม่แบบจาก Microsoft Office Online
 สิ่งสำคัญ   คุณต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก่อนที่คุณจะค้นหา Office Online เพื่อหาแม่แบบที่จะใช้กับ Publisher

  1. เปิด Publisher หรือคลิก สร้าง บนเมนู แฟ้ม
  2. เลือกประเภทสิ่งพิมพ์ ตัวอย่างเช่น บัตรอวยพร
  3. ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
    • ในแค็ตตาล็อก บัตรอวยพร ให้คลิก ดูแม่แบบจาก Microsoft Office Online
 หมายเหตุ   ถ้าคุณดาวน์โหลดแม่แบบจาก Office Online ให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแม่แบบที่คุณดาวน์โหลดนั้นได้รับการออกแบบสำหรับ Publisher ถ้าแม่แบบไม่ได้รับการออกแบบสำหรับ Publisher อาจจะใช้งานกับสิ่งพิมพ์ของคุณไม่ได้
  • ในกล่อง ค้นหาแม่แบบ ให้พิมพ์คำสำคัญ ตัวอย่างเช่น พิมพ์ วันเกิด ในกล่องถัดไป ให้เลือก Microsoft Office Online แล้วคลิกปุ่ม ค้นหา สีเขียว
 หมายเหตุ   กล่อง ค้นหาแม่แบบ อยู่เหนือหัวเรื่อง การเริ่มต้นใช้งาน Microsoft Publisher
  1. เลือกชื่อแม่แบบ แล้วคลิก สร้าง
การใช้แม่แบบ Publisher
  1. บนเมนู แฟ้ม ให้คลิก สร้าง
  2. เลือกประเภทสิ่งพิมพ์ ตัวอย่างเช่นใบประกาศรางวัล
  3. เลือกการออกแบบแล้วเปลี่ยนอย่างที่คุณต้องการ
  4. คลิก สร้าง
  5. เมื่อคุณต้องการจะบันทึกรุ่นนี้ของแม่แบบ ให้คลิก บันทึกเป็น บนเมนู แฟ้ม
  6. บันทึกสิ่งพิมพ์เป็น แม่แบบ Publisher
การเปลี่ยนแม่แบบ
คุณสามารถเปิดแม่แบบที่คุณใช้ก่อนหน้านี้ เปลี่ยนแม่แบบนั้น จากนั้นก็บันทึกเป็นแม่แบบใหม่ได้
  1. เปิด Publisher หรือคลิก สร้าง บนเมนู แฟ้ม
  2. ให้คลิก แม่แบบของฉัน จากนั้นคลิกสองครั้งที่ชื่อของแม่แบบ
  3. เปลี่ยนแปลงแม่แบบอย่างที่คุณต้องการ
  4. บนเมนู แฟ้ม ให้คลิก บันทึกเป็น
  5. ในกล่อง บันทึกเป็นชนิด ให้คลิก แม่แบบ Publisher แล้วพิมพ์ชื่อสำหรับแม่แบบ
  6. คลิก บันทึก
การค้นหาแม่แบบที่คุณสร้าง
  • คลิก แม่แบบของฉัน แล้วคลิกสองครั้งที่ชื่อของแม่แบบที่คุณต้องการ
ถ้าคุณไม่เห็นแม่แบบของคุณอยู่ในรายการที่แสดง อาจเป็นเพราะคุณไม่ได้บันทึกแม่แบบของคุณลงในโฟลเดอร์ตำแหน่งที่ตั้งแม่แบบเริ่มต้น คือ C:\Documents and Settings\ชื่อผู้ใช้\Application Data\Microsoft\Templates folderถ้าคุณบันทึกแม่แบบไปยังตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งแม่แบบเริ่มต้น คุณต้องเรียกดูไปยังตำแหน่งที่ตั้งที่คุณบันทึกแม่แบบนั้นและเปิดหรือย้ายแม่แบบไปยังตำแหน่งที่ตั้งแม่แบบเริ่มต้นบนคอมพิวเตอร์ของคุณ

เพลงแม่จ๋า